คลินิกไลฟ์แคร์ลาบอราทอรี่พัทยา
  |  
 

 

Are U Sure ? Are U Check ? Are U Ready ? 


โรคเอดส์ AIDS โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่อันตราย


รู้ทัน...เอดส์

รู้ทัน...มะเร็งกระเพาะอาหาร

รู้ทัน...มะเร็งปากมดลูก 

รู้ทัน...มะเร็งตับ

รู้ทัน...โรคหัวใจ

                                             

โรคเอดส์
          ต้องยอมรับว่า หนึ่งในโรคติดต่อที่คนรู้จักความน่ากลัวของมันเป็นอย่างดี ก็คือ " โรคเอดส์ " และรู้กันดีว่า " โรคเอดส์ " เป็นโรคร้ายแรงที่ยังไม่มีตัวยาใดมารักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งยังพบผู้ติดเชื้อ เอดส์ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นจึงทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเอาวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น วันเอดส์โลก เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงอันตรายจาก โรคเอดส์ นั่นเอง และวันนี้กระปุกดอทคอม ก็ได้นำความรู้เกี่ยวกับเรื่อง โรคเอดส์ มาบอกต่อกัน ด้วยค่ะ

 

โรคเอดส์ คืออะไร

          โรคเอดส์ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมีชื่อว่า ฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus :HIV) หรือเรียกย่อๆ ว่า เชื้อเอชไอวี โดยเชื้อเอชไอวีจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้อีก โรคต่างๆ (หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า โรคฉวยโอกาส) จึงเข้ามาซ้ำเติมได้ง่าย เช่น วัณโรค ปอดบวม ติดเชื้อในระบบโลหิต เชื้อรา ฯลฯ และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

สายพันธุ์ของ โรคเอดส์


          เชื้อไวรัสเอดส์มีหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักดั้งเดิมคือ เอชไอวี-1 (HIV-1) ซึ่งแพร่ระบาดในแถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกากลาง, เอชไอวี-2 (HIV-2) พบแพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์อื่นๆ ที่กลายพันธุ์มาอีกมากมาย

        
  ในปัจจุบันทั่วโลก พบสายพันธุ์เชื้อเอชไอวี มากกว่า 10 สายพันธุ์  กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยพบมากที่สุดที่ทวีปแอฟริกามีมากกว่า 10 สายพันธุ์ เนื่องจากเป็นแหล่งแรกที่พบเชื้อเอชไอวี และกระจายอยู่เป็นเวลานานกว่า 70 ปี สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือในโลก คือสายพันธุ์ซี มากถึง 40% พบในทวีปแอฟริกา อินเดีย จีน รวมทั้งพม่า ส่วนในประเทศไทยพบเชื้อเอชไอวี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์เอ-อี (A/E) หรืออี (E) พบมากกว่า 95% แพร่ระบาดระหว่างคนที่มีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง กับสายพันธุ์บี (B) ที่แพร่ระบาดกันในกลุ่มรักร่วมเพศ และผ่านการใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น 




          ขณะที่สายพันธุ์ซีเดี่ยวๆ ยังไม่พบในประเทศไทย พบเพียงแต่สายพันธุ์อี-ซี ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์อีในประเทศไทย และสายพันธุ์ซีจากทวีปแอฟริกา และล่าสุดยังได้พบหญิงไทยติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยตรวจพบมาก่อนในโลก คือ เชื้อเอชไอวีผสมระหว่าง 3 สายพันธุ์ คือ เอ จี และดี เรียกว่า เอจี-ดี (AG/D) และยังพบเชื้อเอชไอวีผสม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ อี และจี เรียกว่า เออี-จี (AE/G)

โรคเอดส์ ติดต่อได้อย่างไร

โรคเอดส์ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ

           1.การร่วมเพศกับผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยไม่ใช่ถุงยางอนามัย ทั้งชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือชายกับหญิง จะเป็นช่องทางธรรมชาติหรือไม่ธรรมชาติก็ตาม ล้วนมีโอกาสเสี่ยงต่อการติด โรคเอดส์ ทั้งนั้น ซึ่งมีข้อมูลจากกองระบาดวิทยาระบุว่า ร้อยละ 83 ของผู้ติดเชื้อเอดส์ รับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์

           2.การรับเชื้อทางเลือด โอกาสติดเชื้อ เอดส์ พบได้ 2 กรณี คือ

          - ใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยา ร่วมกับผู้ติดเชื้อ เอดส์ มักพบในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น

          - รับเลือดมาจากการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด แต่ปัจจุบันเลือดที่ได้รับการบริจาคมา จะถูกนำไปตรวจหาเชื้อเอดส์ก่อน จึงมีความปลอดภัยเกือบ 100%

           3.ติดต่อผ่านทางแม่สู่ลูก เกิดจากแม่ที่มีเชื้อเอดส์และถ่ายทอดให้ทารก ในขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และภายหลังคลอด ปัจจุบันมีวิธีป้องกันการแพร่เชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก โดยการทานยาต้านไวรัสในช่วงตั้งครรภ์ จะสามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์เหลือเพียงร้อยละ 8 แต่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การตรวจเลือดก่อนแต่งงาน

          นอกจากนี้ โรคเอดส์ ยังสามารถติดต่อผ่านทางอื่นได้ แต่โอกาสมีน้อยมาก เช่น การใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยไม่ทำความสะอาด, การเจาะหูโดยการใช้เข็มเจาะหูร่วมกับผู้ติดเชื้อเอดส์,การสักผิวหนัง หรือสักคิ้ว เป็นต้น ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นการติดต่อโดยการสัมผัสกับเลือด หรือน้ำเหลืองโดยตรง แต่โอกาสติด โรคเอดส์ ด้วยวิธีนี้ต้องมีแผลเปิด และปริมาณเลือดหรือน้ำเหลืองที่เข้าไปในร่างกายต้องมีจำนวนมาก

                                                

ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อเอดส์

ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อเอดส์ มีหลายประการ คือ

           1.ปริมาณเชื้อเอดส์ที่ได้รับ หากได้รับเชื้อเอดส์มาก โอกาสติด โรคเอดส์ ก็จะสูงขึ้นไปด้วย โดยเชื้อเอดส์ จะพบมากที่สุดในเลือด รองลงมาคือ น้ำอสุจิ และน้ำในช่องคลอด

           2.หากมีบาดแผล จะทำให้เชื้อเอดส์เข้าสู่บาดแผล และทำให้ติด โรคเอดส์ ได้ง่ายขึ้น

           3.จำนวนครั้งของการสัมผัส หากสัมผัสเชื้อโรคบ่อย ก็มีโอกาสจะติดเชื้อมากขึ้นไปด้วย

           4.การติดเชื้ออื่นๆ เช่น แผลริมอ่อน แผลเริม ทำให้มีเม็ดเลือดขาวอยู่ที่แผลจำนวนมาก จึงรับเชื้อเอดส์ได้ง่าย และเป็นหนทางให้เชื้อเอดส์เข้าสู่แผลได้เร็วขึ้น

           5.สุขภาพของผู้รับเชื้อ หากสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ในขณะนั้น ก็ย่อมมีโอกาสที่จะรับเชื้อได้ง่ายขึ้น

โรคเอดส์ มีกี่ระยะ

เมื่อติดเชื้อเอดส์แล้ว จะแบ่งช่วงอาการออกเป็น 3 ระยะ คือ

           1.ระยะไม่ปรากฎอาการ (Asymptomatic stage) หรือระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ออกมา จึงดูเหมือนคนมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติ แต่อาจจะเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ จากระยะแรกเข้าสู่ระยะต่อไปโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี แต่บางคนอาจไม่มีอาการนานถึง 10 ปี จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อต่อไปให้กับบุคคลอื่นได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ

           2.ระยะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (Aids Related Complex หรือ ARC) หรือระยะเริ่มปรากฎอาการ (Symptomatic HIV Infection) ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในเห็น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน, มีเชื้อราในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก, เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม และมีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด เป็นต้น ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นปีก่อนจะกลายเป็นเอดส์ระยะเต็มขึ้นต่อไป

           3.ระยะเอดส์เต็มขั้น (Full Blown AIDS) หรือ ระยะ โรคเอดส์ ในระยะนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปมาก ทำให้เป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย หรือที่เรียกว่า "โรคติดเชื้อฉวยโอกาส" ซึ่งมีหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะติดเชื้อชนิดใด และเกิดที่ส่วนใดของร่างกาย หากเป็นวัณโรคที่ปอด จะมีอาการไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Cryptococcus จะมีอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน หากเป็นโรคเอดส์ของระบบประสาทก็จะมีอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรงเป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อผู้เป็นเอดส์เข้าสู่ระยะสุดท้ายนี้แล้วโดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 ปี

ใครที่ควรตรวจหาเชื้อเอดส์

           ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และต้องการรู้ว่าตนเองติดเชื้อเอดส์หรือไม่
           ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่หรืออยู่กินฉันท์สามีภรรยา
           ผู้ที่สงสัยว่าคู่นอนของตนจะมีพฤติกรรมเสี่ยง 
           ผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก 
           ผู้ที่ต้องการข้อมูลสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของร่างกาย เช่น ผู้ที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ (บางประเทศ)

          หากสงสัยว่า รับเชื้อเอดส์มา ไม่ควรไปตรวจเลือดทันที เพราะเลือดจะยังไม่แสดงผลเป็นบวก ควรตรวจภายหลังจากสัมผัสเชื้อแล้ว 4 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะได้ผลที่แม่นยำ

การป้องกัน โรคเอดส์

เราสามารถป้องกัน โรคเอดส์ ได้ โดย

           1. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์
           2. รักเดียว ใจเดียว
           3. ก่อนแต่งงาน หรือมีบุตร ควรตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และขอรับคำปรึกษาเรื่อง โรคเอดส์ จากแพทย์ก่อน
           4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดใช้สารเสพติดทุกชนิด





ถุงยางอนามัย ป้องกัน โรคเอดส์ ได้แค่ไหน

          ถุงยางอนามัย สามารถป้องกัน โรคเอดส์ ได้แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ว่าถูกต้องหรือไม่ เช่น ถุงยางมีคุณภาพดีพอหรือไม่ หมดอายุการใช้งานหรือยัง โดยปกติให้ดูจากวันผลิตไม่เกิน 3 ปี หรือดูวันหมดอายุที่ซอง ซองต้องไม่ชำรุด หรือฉีกขาด นอกจากนี้ต้องเลือกขนาดใช้ให้เหมาะสม ถ้าขนาดไม่พอดี ก็อาจฉีดขาด หรือหลุดออกง่าย ซึ่งจะไม่สามารถป้องกัน โรคเอดส์ อย่างได้ผล

วิธีใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง



          1.หลังจากตรวจสอบว่า ถุงยางอนามัยไม่หมดอายุ ซองไม่มีรอยฉีกขาด ฉีกมุมซองโดยระมัดระวัง ไม่ให้เล็บมือเกี่ยวถุงยางอนามัยขาด



          2.ใช้ถุงยางอนามัยในขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัว บีบปลายถุงยาง เพื่อไล่อากาศ





          3.รูดถุงยางอนามัย โดยให้ม้วนขอบอยู่ด้านนอก




          4.สวมถุงยางอนามัย แล้วรูดให้ขอบถุงยางอนามัย ถึงโคนอวัยวะเพศ



          5.หลังเสร็จกิจ ควรรีบถอดถุงยางอนามัย ในขณะที่อวัยวะเพศยังแข็งตัว โดยใช้กระดาษชำระหุ้มถุงยางอนามัยก่อนที่จะถอด หากไม่มีกระดาษชำระต้องระวัง ไม่ให้มือสัมผัสกับด้านนอกของถุงยาง ควรสันนิษฐานว่า ด้านนอกของถุงยาง อาจจะปนเปื้อนเชื้อเอดส์แล้ว

          6.ทิ้งถุงยางอนามัยที่ใช้แล้ว ลงในภาชนะรองรับ เช่น ถังขยะ


                                                      

วิธีใช้ถุงยางอนามัย เพศหญิง

          ใช้นิ้วหัวแม่มือนิ้วชี้และนิ้วกลางจับขอบห่วงถุงยางให้ถนัดแล้วบีบขอบห่วงในให้ห่อตัวเล็กลง นั่งท่าที่เหมาะสม เช่น นั่งยองๆ หรือยกขาข้างใดข้างหนึ่งวางบนเก้าอี้แล้วค่อยๆ สอดห่วงถุงยางที่บีบไว้เข้าไปในช่องคลอด ดันให้ลึกที่สุด ใช้นิ้วสอดเข้าไปในถุงยางจนนิ้วสัมผัสกับขอบล่างของห่วงด้านใน แล้วจึงดันขอบห่วงถุงยางลึกเข้าไปในช่องคลอด ให้ถึงส่วนบนของเชิงกระดูกหัวเหน่า ด้วยการงอนิ้วไปทางด้านหน้าของตัวคุณให้ลึกเข้าไปในปากช่องคลอดประมาณ 2-3 นิ้ว  วิธีถอดถุงยางให้หมุนบิดปิดปากถุง เพื่อให้น้ำอสุจิคงอยู่ภายในถุงยาง แล้วจึงค่อยๆ ดึงออก 

โรคเอดส์ รักษาได้หรือไม่

          ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ มีแต่เพียงยาที่ใช้เพื่อยับยั้งไม่ให้ไวรัสเอดส์เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อเอดส์ให้หมดไปจากร่างกายได้ ยาต้านไวรัสเอดส์ในปัจจุบันมี 3 ประเภทคือ

           1. Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) ได้แก่ AZT ddl ddC d4T 3TC ABC รับประทานยาต้านไวรัสเอดส์

           2. Non-Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NNRTIs) ได้แก่ NVP EFV

           3. Protease Inhibitors (Pls) ได้แก่ IDV RTV Q4V NFV 

          หากรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์แล้ว อาจมีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน มีผื่นตามผิวหนัง โลหิตจาง ฯลฯ ดังนั้นการรับประทานยาเหล่านี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

ข้อควรปฏิบัติหากได้รับเชื้อเอดส์

          ผู้ที่เป็น โรคเอดส์ สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และควรดูแลสุขภาพให้ดี ไม่ควรวิตกกังวล เพราะหากไม่มีโรคแทรกซ้อนจะสามารถมีชีวิตยืนยาวไปได้อีกหลายปี โดยมีข้อปฏิบัติคือ

           1.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

           2.รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

           3.หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือหากมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการรับเชื้อ หรือแพร่เชื้อเอดส์

           4.งดการบริจาคเลือด อวัยวะ และงดใช้สิ่งเสพติดทุกชนิด

           5. หากเป็นหญิง ไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะเชื้อเอดส์สามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้ถึง 30%

           6. ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด ไม่กังวล รวมทั้งอาจฝึกสมาธิ

           7.อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับ โรคเอดส์

          จากข้อมูลทางการแพทย์ระบุชัดว่า เชื้อเอชไอวีไม่สามารถแพร่สู่กันได้โดยการติดต่อในชีวิตประจำวันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการกอด การสัมผัสมือที่เป็นการทักทายแบบชาวตะวันตก หรือการปฏิสัมพันธ์ภายนอกอื่น เช่น การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การใช้เตียงนอนร่วมกัน การใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารหรือรถแท็กซี่ร่วมกัน

          นอกจากนี้ เอชไอวีไม่ใช่โรคติดต่อทางอากาศเหมือนกับไข้หวัด และไม่ติดต่อผ่านทางแมลง หรือ ยุง โดยทั่วไปแล้วเชื้อเอชไอวีติดต่อกันผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีติดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน การแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกาย เช่น อสุจิ เลือด หรือของเหลวในช่องคลอด นอกจากนี้เชื้อเอชไอวียังสามารถติดต่อผ่านทางการใช้เข็ม หรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกันของผู้ใช้ยาเสพติด ขณะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่

หน่วยงานที่ให้การบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพ และ โรคเอดส์

ผู้ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับ โรคเอดส์ เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่

           กลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร. 0-2286-0431, 0-2286-4483 

           โรงพยาบาลบำราศนราดูร โทร. 0-2590-3737, 0-2590-3510 

           กองควบคุมโรคเอดส์ กทม. โทร. 0-2860-8751-6 ต่อ 407-8 

           มูลนิธิศูนย์ฮอตไลน์ โทร. 0-2277-7699, 0-2277-8811 (โทรฟรี) 

           มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โทร. 0-2372-2222 

           สถานบริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

มะเร็งกระเพาะอาหาร ภัยเงียบที่น่ากลัว


มะเร็งกระเพาะอาหาร

          มะเร็งกระเพาะอาหาร นับเป็นโรคมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่บ่อยนัก และถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัว เพราะหลายคนกว่าจะรู้ตัวว่า ตัวเองป่วยเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งก็ลามถึงขั้นระยะสุดท้ายเสียแล้ว เช่นเดียวกับดาราสาวเกาหลี จาง จินยอง ที่เสียชีวิตเพราะโรค  มะเร็งกระเพาะอาหาร  นี้ด้วยวัยเพียงแค่ 35 ปี เท่านั้นเอง เห็นความน่ากลัวของ  มะเร็งกระเพาะอาหาร  กันแล้ว ก็ไปรู้จักโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร กันเลยค่ะ

          มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือ Cancer of stomach, Gastric cancer เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุภายในโพรงกระเพาะอาหาร ทั้งนี้มักพบผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะอาหาร ในระยะสุดท้ายแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยจะมาหาหมอเมื่อปรากฎอาการชัดเจน

สาเหตุของ มะเร็งกระเพาะอาหาร

สาเหตุของโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร มาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น

          พันธุกรรม ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องป่วยเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มากกว่าผู้ที่ไม่มีพันธุกรรมของโรคนี้

          เกิดจากการติดเชื้อเฮริโคแบคเตอร์ไพโรไล (Helicobactor Pyroli) ในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องเป็นๆ หายๆ แบบโรคกระเพาะ

          ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังบางชนิด หรือเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร

          การสูบบุหรี่จัด ดื่มสุรามาก

          การรับประทานอาหารรสเค็มจัด หรือมีสารผสมบางอย่างในเนื้อสัตว์หมัก อาหารหมักดอง รมควัน หรืออาหารใส่ดินประสิว เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง

          รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีน้อย เช่น ผัก ผลไม้ สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร ได้เช่นกัน

กลุ่มเสี่ยงโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร

          อายุ โดยปกติจะพบ มะเร็งกระเพาะอาหาร ในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

          เพศ มักพบโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

          เชื้อชาติ มักพบชาวเอเชียเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มากกว่าชนชาติอื่นๆ

          ผู้ที่มีประวัติเคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร มานานกว่า 20 ปี


อาการของ มะเร็งกระเพาะอาหาร

          ในระยะเริ่มแรกของ มะเร็งกระเพาะอาหาร จะยังไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมา ต่อมาถ้าก้อนมะเร็งโตขึ้น ผู้ป่วยจะปวดท้อง รู้สึกหิวง่าย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือเหนือสะดือ แบบเดียวกับโรคกระเพาะ ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเป็นโรคกระเพาะธรรมดา กินยารักษาโรคกระเพาะอาการก็ทุเลาได้ แต่ต่อมายารักษาโรคกระเพาะทานไม่ได้ผล จะมีอาการรุนแรงอื่นๆ ตามมา เช่น

          คลื่นไส้ อาเจียน

          อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ (เป็นสีเลือดเก่าที่ตกค้าง)

          คลำพบก้อนแข็งในท้อง ตรงบริเวณเหนือสะดือ แต่กดแล้วไม่เจ็บ
         
          เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

          กลืนอาหารลำบาก

          คลำพบก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าข้างซ้าย

          หากพบอาการเหล่านี้ แล้วไปไม่รักษา ปล่อยให้มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนตามมา เช่น

          มะเร็งลามไปตับ จะมีอาการดีซ่าน หรือตาเหลือง ท้องบวมน้ำ

          มะเร็งลามไปปอด จะมีอาการหายใจ หอบ เหนื่อย หายใจลำบาก

          มะเร็งอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ จะมีอาการปัสสาวะไม่ออก หรือออกน้อย ไตวาย

          มะเร็งอุดตันกระเพาะลำไส้ จะเกิดอาการปวดท้อง อาเจียน กินอาหารไม่ได้

          ภาวะตกเลือด ทำให้อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ หน้าตาซีดเซียวเพราะเสียเลือด เป็นต้น


การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

          การวินิจฉัยโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์จะใช้การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงสุด และผู้ป่วยไมาเจ็บปวด เพียงแต่อาจรู้สึกพะอืดพะอมบ้าง

          บางครั้งแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยกลืนแป้งแบเรียม แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ของกระเพาะ และลำไส้ ทั้งนี้เมื่อตรวจพบว่าเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร แล้ว แพทย์อาจจะอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประเมินว่า มะเร็งกระจายตัวไปแค่ไหน อยู่ในระยะไหนแล้ว

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถรักษาได้โดย

          การผ่าตัด เป็นวิธีหลักในการรักษา มะเร็งกระเพาะอาหาร อาจเป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน หรือทั้งหมด

          เคมีบำบัด หรือ ทำคีโม โดยการให้ยาทางหลอดเลือด เพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง จึงอาจมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ทำให้เม็ดเลือดแดงลดลง จนมีอาการอ่อนเพลีย เลือดออกง่ายขึ้น อีกทั้งยังเกิดผมร่วงมากขึ้น และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอีกด้วย

          รังสีบำบัด หรือการฉายแสง โดยการให้รังสีที่มีพลังงานสูงไปทำลายเซลล์มะเร็ง ในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จะให้รังสีบริเวณช่องท้องส่วนบน อาจมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว และมีอาการแดงบริเวณผิวหนังที่ได้รับรังสีได้ แต่อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้

          ทั้งนี้ในผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 1-2 แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหาร และให้เคมีบำบัดต่อเนื่องระยะหนึ่ง เพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งกระจายตัว การรักษาในขั้นนี้เป็นไปเพื่อให้โรคทุเลาลง หายขาด และมีอายุยืนยาว

          แต่สำหรับรายที่เป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร มากๆ จะต้องให้เคมีบำบัดเป็นหลัก ร่วมกับการฉายแสง การผ่าตัดอาจทำได้เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น มีก้อนมะเร็งไปอุดกั้นทางเดินอาหาร การรักษาขั้นนี้ เป็นไปเพื่อบรรเทาภาวะแทรกซ้อน ไม่ได้มุ่งหวังในโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หายไป

          อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยเป็นโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะแรกๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะสุดท้าย ก็จะทำได้เพียงแค่ประคับประคอง เพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมาน และมักจะเสียชีวิต โดยทั่วไปผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 4 จะมีเสียชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-12 เดือน แต่หากดูแลรักษาร่างกายให้ดี อาจมีชีวิตอยู่ได้นานกว่านี้

วิธีปฏิบัติตัวหากตรวจพบเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร

ผู้ที่ตรวจพบว่า เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรปฏิบัติตัวดังนี้

          ติดตามรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

          ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

          สร้างกำลังใจให้แก่ตนเอง ทำใจยอมรับให้ได้ อาจใช้วิธีการนั่งสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์ ภาวนา

          กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พยายามกินผัก ผลไม้ ถั่วเหลือง ให้มากๆ

          หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เท่าที่ร่างกายจะรับได้

การป้องกัน มะเร็งกระเพาะอาหาร

          ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร อย่างชัดเจน แต่สามารถป้องกัน มะเร็งกระเพาะอาหาร ได้จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ

          รักษาการติดเชื้อเฮริโคแบคเตอร์ไพโรไล

          หลีกเลี่ยงการรับประทานของหมักดอง อาหารรสเค็มจัด ของปิ้งย่าง

          รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง

          งดสูบบุหรี่ ดื่มสุราในปริมาณมาก


          เห็นได้ว่า มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นเรื่องใกล้ตัวทีเดียว ดังนั้นหากใครมีอาการของโรคกระเพาะอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน นานเกินกว่า 4 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม และหากมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ตัวเหลือง ตาเหลือง น้ำหนักลด เพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
 

ตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งกระเพาะอาหาร (Tumor marker for stomach cancer)หรือ CA-19-9 ราคา 750 บาท

 


รู้ทัน . . .มะเร็งปากมดลูก
 
        รู้ทัน . . .มะเร็งปากมดลูก


มะเร็งปากมดลูก
           แม้ มะเร็งปากมดลูก จะเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาให้หายได้ แต่ โรคมะเร็งปากมดลูก  ยังคงครองแชมป์อันดับหนึ่งของมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิง โดยมีอัตราการเสียชีวิตของ มะเร็งปากมดลูก เฉลี่ยสูงถึง 7 คนต่อวัน  และพบผู้ป่วย มะเร็งปากมดลูก รายใหม่สูงถึง 6,000 คนต่อปี โดยในจำนวนของผู้มีเชื้อนี้กว่าครึ่งต้องเสียชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอายและกลัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็ง ทำให้กว่าจะรู้ว่าป่วยด้วย โรคมะเร็งปากมดลูก นี้  ความรุนแรงของโรคก็อยู่ในระยะลุกลามแล้ว..ดังนั้น  วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับ มะเร็งปากมดลูก มาให้คุณรู้เท่าทัน โรคมะเร็งปากมดลูก กันค่ะ  

           โรคมะเร็งปากมดลูก (Cancer of Cervix)  เกิดจากเชื้อไวรัสตัวหนึ่งที่ชื่อว่า HPV (Human Papilloma Virus) ภาษาไทยเรียกกันว่า ไวรัสหูด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อจากการสัมผัส ส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ และเชื้อไวรัสจะเข้าไปที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ จากปากมดลูกปกติกลายเป็นระยะก่อนเป็น มะเร็งปากมดลูก

           ไวรัสเอชพีวี มีทั้งหมดกว่า 100 ชนิด แต่ที่ทำให้ติดเชื้ออวัยวะสืบพันธุ์มีประมาณ 30-40 ชนิด แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มเสี่ยงต่ำและกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงต่ำไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ หรือหูดที่กล่องเสียง ส่วนกลุ่มเสี่ยงสูงก่อมะเร็งต่างๆ ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งปากช่องคลอด


            สำหรับความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวีดำเนินได้โดยง่าย เชื้อชนิดนี้เป็นเชื้อที่ทนทานต่อความร้อน และความแห้งได้ดี สามารถเกาะติดตามผิวหนัง อวัยวะเพศ เสื้อผ้า หรือแม้แต่กระจายอยู่รอบตัวในรูปของละอองฝุ่น ซึ่งผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อมักหายได้เอง ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย มีเพียง 10% เท่านั้น ที่การติดเชื้อยังดำเนินต่อไป สร้างความผิดปกติให้กับเยื่อบุปากมดลูก และทำให้กลายเป็นมะเร็งในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งก่อให้เกิด มะเร็งปากมดลูก ได้นั้น ใช้เวลานานประมาณ 10-15 ปี

ปัจจัยเสี่ยง มะเร็งปากมดลูก

           - การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
           - การมีคู่นอนหลายคน หรือฝ่ายชายที่เราร่วมหลับนอนมีคู่นอนหลายคน
           - การคลอดบุตรจำนวนหลายคน
           - การสูบบุหรี่
           - การมีภาวะคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเป็นโรคเอดส์  
           - การสูบบุหรี่
           - พันธุกรรม
           - การขาดสารอาหารบางชนิด
 
           ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายชาย ที่อาจทำให้ผู้หญิงเป็น มะเร็งปากมดลูก

           - ผู้ชายที่มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
           - ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
           - ผู้หญิงที่มีสามีเป็นมะเร็งองคชาติ
           - ผู้หญิงที่มีสามีเคยมีภรรยาเป็น มะเร็งปากมดลูก
           - ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน

อาการและการรักษา โรค มะเร็งปากมดลูก
 
           โรค มะเร็งปากมดลูก มักพบในผู้หญิงอายุ 35 - 60 ปี แต่ก็อาจพบ มะเร็งปากมดลูก ก่อนวัยอันควรได้  ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วย มะเร็งปากมดลูก จะมากหรือน้อยขึ้นกับระยะของมะเร็ง ซึ่งอาการที่พบในผู้ป่วย โรคมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
 
            อาการตกเลือดทางช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80 – 90  ของผู้ป่วย มะเร็งปากมดลูก ลักษณะเลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ ถ้าเป็นมากและมะเร็งลุกลามออกไปด้านข้าง หรือลุกลามไปที่อุ้งเชิงกรานก็จะมีอาการปวดหลังได้ เพราะไปกดทับเส้นประสาท 

           อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามหรือไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ขาบวม ปวดหลัง  ปวดก้นกบ ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น

           โรค
มะเร็งปากมดลูก แบ่งเป็น 0-4 ระยะ ดังนี้
 
           ระยะ 0  คือ เซลล์มะเร็งยังไม่กระจาย วิธีรักษา มะเร็งปากมดลูก ระยะ 0 คือ ผ่าตัดเล็ก ซึ่งใช้เวลาเพียง 15 นาที และตรวจติดตามอาการ การรักษาระยะนี้ได้ผลเกือบ 100%

           ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ที่ปากมดลูก การรักษา มะเร็งปากมดลูก ระยะ 1 คือผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดมดลูก เลาะต่อมน้ำเหลืองในเชิงกราน ซึ่งได้ผลดีถึง 80%

            ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูก โดยยังไม่ไปไกลมาก แต่ก็ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษา มะเร็งปากมดลูก ระยะที่ 2 นี้ ต้องรักษาด้วยการฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด  (คีโม) ได้ผลราว 60%

           ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายชิดเชิงกราน การรักษา มะเร็งปากมดลูก ระยะที่ 3 คือใช้รังสีรักษา และการให้เคมีบำบัด การรักษาระยะนี้ได้ผลประมาณ 20-30%

           ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งกระจายทั่วร่างกาย การรักษา มะเร็งปากมดลูก ระยะที่ 4 คือการให้คีโม และรักษาตามอาการ โดยหวังผลได้เพียง 5-10% และโอกาสรอดน้อยมาก แต่ก็ไม่แน่ โดยมีผู้ป่วย มะเร็งปากมดลูก บางรายสามารถอยู่ต่อได้นานถึง 1-2 ปี จึงเสียชีวิต

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรค มะเร็งปากมดลูก

           การผ่าตัด ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดที่อาจเกิดได้ ได้แก่ การตกเลือด การติดเชื้อ อันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียง
           การฉายแสง (ระยะเวลา 1-2 เดือน) ผลข้างเคียง คือ ผิวแห้ง ปัสสาวะมีเลือดปน อ่อนเพลีย
           ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงคือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มือเท้าชา ซึ่งขึ้นกับยาแต่ละชนิดที่เลือกใช้
 
 ผู้หญิงควรจะเริ่มตรวจหาโรค มะเร็งปากมดลูก เมื่อใด
 
           ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทุกช่วงอายุ ควรมาตรวจคัดกรองเชื้อ มะเร็งปากมดลูก หรือที่เรียกว่า แพปสเมียร์ (Pap Smear)   อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มเมื่อ อายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีที่เริ่มพบความผิดปกติแพทย์อาจนัดให้ไปตรวจถี่ขึ้น 
 
           ทั้งนี้ แพปสเมียร์ คือ วิธีการตรวจหาความผิดปกติ หรือโรค มะเร็งปากมดลูก ที่ค่อนข้างง่าย ใช้เวลาเพียง 2–3 นาทีเท่านั้น เป็นการตรวจที่ทำควบคู่ไปกับการตรวจภายในของผู้หญิง แพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องคลอด โดยใช้ไม้ขนาดเล็กขูดเบาๆ เพื่อเก็บเซลล์มาป้ายบนแผ่นกระจก และนำไปตรวจหาความผิดปกติ โดยก่อนที่จะตรวจ ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม ไม่ควรตรวจในช่วงระหว่างมีประจำเดือน งดการมีเพศสัมพันธ์ และงดการสวนล้างช่องคลอด หรือสอดยาใดๆ ก่อนเข้าทำการตรวจ 
ข้อดีคือ วิธีการตรวจแบบแพปสเมียร์นี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็น โรคมะเร็งปากมดลูก ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์
 
 วัคซีนโรค มะเร็งปากมดลูก
 
           หลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องการรณรงค์ฉีดวัคซีนโรค มะเร็งปากมดลูก ความจริงแล้ว ระดับการป้องกันโรค มะเร็งปากมดลูก มีหลายระดับ โดยระดับแรกของการป้องกันคือ การฉีดวัคซีน ที่เชื่อว่าลดความเสี่ยงได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ การป้องกันขั้นพื้นฐานด้วยการตรวจแพปสเมียร์เป็นประจำก็เป็นเรื่องสำคัญ 
 
           ทั้งนี้ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งสหรัฐอเมริกา เด็กและหญิงสาวที่อายุต่ำกว่า 26 ปี ซึ่งไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน สามารถรับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวี ส่วนหญิงสาวที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ควรตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก หรือแพปสเมียร์เสียก่อน เพราะเป็นไปได้ว่าอาจพบการติดเชื้อ หรือมีความผิดปกติ ซึ่งจะต้องทำการรักษาให้หายเสียก่อน จึงจะรับการฉีดวัคซีนได้ในเวลาต่อมา 
ส่วนวัยที่ควรเริ่มฉีดวัคซีนชนิดนี้คือ 9 ปีขึ้นไป และการใช้วัคซีนในผู้หญิงวัย 9 – 26 ปี จะป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  

          
อย่าลืมหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ และความผิดปกติของร่างกาย ที่สำคัญอย่ากลัวหรืออายที่จะไปตรวจหาเชื้อ มะเร็งปากมดลูก เพราะหากช้าไป โรคร้ายอาจทำลายคุณ

สาวไทยขยาด ตายวันละ 9 ศพ มะเร็งปากมดลูก

 

 สาวไทยขยาด ตายวันละ 9 ศพ มะเร็งปากมดลูก (ไทยรัฐ)

         
อธิบดี กรมอนามัยเผยรายงานสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบสถิติหญิงไทยเป็น มะเร็งปากมดลูก อันดับหนึ่ง คาดประมาณว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5 แสนรายต่อปี

          เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับสตรีทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนานับเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง จากการคาดประมาณว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5 แสนรายต่อปี ใน แต่ละปีมีอัตราเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 50 สำหรับประเทศไทยโรค มะเร็งปากมดลูก พบมากเป็นอันดับหนึ่งของสตรีและเสียชีวิตถึงวันละ 9 คน  จากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าผู้ป่วย มะเร็งปากมดลูก รายใหม่มีแนวโน้มสูงขึ้น

          จากการคาดประมาณใน ช่วงปีพ.ศ. 2533-2551 พบว่า มีผู้ป่วย มะเร็งปากมดลูก รายใหม่จำนวน 4,353 ราย ในปี พ.ศ. 2533 และเพิ่มขึ้นเป็น 9,747 รายในปี พ.ศ. 2551 โดยมีอัตราการเกิดโรค 24.7 ต่อประชากร 100,000 ราย โดยพบอัตราการเกิดโรคสูงสุดในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย

          และว่านับเป็น ความโชคดีของสตรีไทยที่องค์กรจาไปโก้: JHPIEGO (John Hopkins University Nonprofit Affiliate) เป็นองค์การนานาชาติที่ไม่แสวงหากำไรเพื่อสุขภาพของสตรีและครอบครัว ได้เห็นความสำคัญและให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติที่สอดคล้องกับท้องถิ่นแก่ประเทศไทย โดยประสานการดำเนินงานร่วมกับกรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่ดำเนินการด้าน อนามัยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยเป็นเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา เพื่อต้องการงบประมาณในการสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยการตรวจ คัดกรอง มะเร็งปากมดลูก ครบวงจร หาเงินช่วยหญิงไทยห่างไกลมะเร็งปากมดลูก

ค่าบริการตรวจมะเร็งปากมดลูก  300  บาท

 

เผยคนไทยป่วยมะเร็งพุ่ง มะเร็งตับ มาที่ 1



มะเร็งคนไทยพุ่งแห่รักษาศิริราช
          "นายกมะเร็งวิทยาสมาคม" เผยรายงานสำรวจสถานการณ์มะเร็งล่าสุด พบผู้ป่วยมะเร็งพุ่งเพิ่มจากเดิม 23% เสียชีวิต 156 ราย/วัน ขณะที่ รพ.ศิริราชมีผู้ป่วยเข้ารักษากว่า 8 พันราย/ปี รพ.รามา 3 พันราย/ปี และสถาบันมะเร็ง 2.5 พันราย/ปี ชี้มะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง มะเร็งตับสูงเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย พร้อมชี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อผิด ๆ ไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งที่จำเป็นต่อร่างกาย

          พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมะเร็งว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 และจากการสำรวจปี 2541-2543 พบผู้ป่วยมะเร็ง 195,780 ราย หรือ 65,260 ราย ขณะที่ปี 2544-2546 พบ 241,051 ราย หรือ 80,350 รายต่อปี โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 23

          โดยมะเร็งที่พบในผู้ชาย มะเร็งตับและทางเดินน้ำดีพบเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ขณะที่ผู้หญิงพบมะเร็งเต้านมอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่

          สถิติดังกล่าวสอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล โดย รพ.ศิริราชในปี 51 มีผู้ป่วยมะเร็ง 8,256 ราย รพ.รามาธิบดีปี 51 มีผู้ป่วย 3,028 ราย และสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 52 มีผู้ป่วย 2,497 ราย ซึ่งมะเร็งที่พบอันดับ 1 และ 2 เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งปอดเช่นกัน


          นอกจากนี้พบว่าในปี 2552 คนไทยยังเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 56,058 ราย หรือ 88.34 รายต่อประชากร 1 แสนราย หรือคิดเป็น 156 รายต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 โดยผลสำรวจนี้เป็นข้อมูลที่รายงานในปี 2553

          พญ.สุดสวาท กล่าวว่า ในกลุ่มผู้หญิง สาเหตุที่จำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแซงหน้ามะเร็งปากมดลูก มาจากหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องอาหาร เช่น การกินอาหารไขมันสูง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการเก็บสถิติและการตรวจคัดกรองที่ดีขึ้น ทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง โดยข้อมูลที่พบนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับในต่างประเทศ ที่มะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามหากดูภาพรวม มะเร็งเต้านมยังมาเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับที่เป็นอันดับ 1 และมะเร็งปอดอันดับ 2

          พญ.สุดสวาท กล่าวต่อว่า สำหรับการรักษา หากพบในระยะแรกจะใช้การผ่าตัดซึ่งจะได้ผล แต่วิธีนี้ใช้ได้เฉพาะมะเร็งบางชนิดเท่านั้น เช่น มะเร็งปอด แต่หากเป็นระยะที่ 2 หรือ 3 ต้องใช้ยาเคมีบำบัด ส่วนยาใหม่ที่เป็นยามุ่งเป้าที่เซลล์มะเร็งนั้น จะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม ซึ่งเป็นยาที่ช่วยเสริมจากการทำเคมีบำบัด ซึ่งยาเหล่านี้มีราคาแพงมาก มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 70,000-100,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้การรักษาโรคมะเร็งปัจจุบันครอบคลุมทั้ง 3 ระบบ ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า


          ทั้งนี้ การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผ่านมา สิ่งที่วงการแพทย์ไทยมีความกังวล ยังคงเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยเกี่ยวกับการดูแลตนเอง อย่างความเชื่อเกี่ยวกับอาหาร ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เชื่อว่าจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์เลย ถือเป็นความเชื่อที่ผิด ไม่ถูกต้อง เป็นความเชื่อที่มีมานานกว่า 10 ปีมาแล้ว ทั้ง ๆ ที่โปรตีนมีความจำเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งหากไม่อยากทานเนื้อแดง ก็ควรการกินเนื้อปลาหรือไข่ขาวทดแทน แต่หลีกเลี่ยงการปิ้งย่าง

          เช่นเดียวกับการใช้ยาสมุนไพร หรือยาลูกกลอนที่ไม่ได้มีการศึกษาทดลองแบบ มาตรฐานที่อาจทำให้เกิดผลเสีย ทั้งยังอาจทำให้หมดโอกาสในการรักษา นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตมากที่สุดคือ ความไม่ตระหนักหรือไม่รู้ว่าเป็นมะเร็งในระยะแรก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มาในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว ยากต่อการรักษา
 
 

ค่าบริการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (Alfa-fetoprotein ; AFP ) แบบ screening ราคา 250 บาท

                                                                                                             แบบ AFP (Level) ราคา 350 บาท

ค่าบริการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งเต้านม (CA-153 ) ราคา 750 บาท

ค่าบริการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ ( CA-125 ) ราคา 750 บาท

ค่าบริการตรวจเลือดเพื่อสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก ( PSA ) ราคา 750 บาท ; แบบ screening ราคา 250 บาท

 

 

โรคหัวใจ Heart Disease

                                                              
โรคหัวใจ
          ชั่วโมงการทำงานที่อัดแน่นด้วยความเครียด และการกินอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและเกลือ กำลังคุกคามสุขภาพของคนยุคปัจจุบัน อีกไม่นาน... การใช้ชีวิตสมัยใหม่แบบนี้ อาจทำให้ โรคหัวใจ ระบาดทั่วเมือง... 

          หัวใจคนเรามี 4 ห้อง แบ่งซ้าย - ขวา โดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งเป็นห้องบน –ล่างโดยลิ้นหัวใจ ในทุกๆ วัน หัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง และสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 2,000 แกลลอน เปรียบเสมือนการทำงานปกติของ "หัวใจ" แต่ถ้าวันหนึ่ง... หัวใจเราเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาล่ะ จะทำอย่างไร...?

          ทั้งนี้ นายแพทย์สุรพันธ์ สิทธิสุข แพทย์จากหน่วย โรคหัวใจ และหลอดเลือด คณะแพทย์ศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็น โรคหัวใจ สามารถแบ่งได้หลายชนิด ดังนี้

 โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน... 


          คือ อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ที่บ่งชี้ว่าอาจเป็น โรคหัวใจ พบบ่อยในคนทั่วไป ที่คิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี ทั้งที่ความจริงอาจเป็นโรคหัวใจในระยะแรกเริ่ม มีดังนี้

           1. เหนื่อยเวลาออกกําลังกาย เพราะหัวใจทําหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขณะที่เราออกกําลังกาย หัวใจจะทํางานหนักมากขึ้น ปกติเวลาที่เราออกกำลังกายไปถึงระดับหนึ่งจะรู้สึกเหนื่อย แต่ในรายของคนที่มีอาการเริ่มต้นของ โรคหัวใจ แม้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย จะรู้สึกเหนื่อยผิดปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นหากออกกำลังกาย แล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ

           2. เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก มักพบบ่อยในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ อาการดังกล่าวจะมีลักษณะเฉพาะคือ รู้สึกเหมือนหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก เหมือนมีของหนักทับอยู่ หรือรัดไว้ให้ขยายตัวเวลาหายใจ โดยมากอาการนี้ จะแสดงออกเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างการออกกำลังกาย หรือใช้แรงมากๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่า อาจเป็น โรคหัวใจ

           3. ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อย ทั้งที่ออกกำลังกายเพียงนิดหน่อย หรือเหนื่อยทั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ ในกรณีที่เป็นมาก อาจทำให้ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก นอกจากนั้น อาจมีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึกอีกด้วย อาการภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ หากไม่รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

           4. ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติหัวใจของเราจะเต้นด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอประมาณ 60 -100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจขยับไปถึง150 -250 ครั้ง/นาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอนี้ จะทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน

           5. เป็นลมหมดสติ คืออีกหนึ่งอาการที่เตือนว่าคุณอาจเป็น โรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติสูง เนื่องจากจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เพราะเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ให้จังหวะไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง และส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนทำให้เป็นลมไปชั่วคราวได้ ทั้งนี้ การเป็นลมหมดสติ มักจะเกิดในท่ายืนมากกว่านั่ง ทำให้ขณะล้มลงศีรษะมีโอกาสฟาดพื้น และเกิดการกระทบกระเทือนต่อสมองได้มากกว่า ดังนั้น ใครที่เป็นลมบ่อยๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็น โรคหัวใจ ได้

           6. หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ในกรณีนี้มักเกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจโดยตรง และมักเกิดกับคนปกติที่ไม่มีอาการของ โรคหัวใจ มาก่อนล่วงหน้า ซึ่งหากมีอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็ว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่สังเกตได้จากร่างกาย... 

          นอกจากความผิดปกติชนิดเฉียบพลันแล้ว อาการบ่งชี้ที่สังเกตได้จากร่างกายของเราเอง ก็เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติที่เตือนให้รู้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ และควรไปพบแพทย์โดยด่วนได้เช่นกัน เป็นต้นว่า...

           1. ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ
เมื่อกดดูแล้วมีรอยบุ๋มตามนิ้วที่กดลงไป ซึ่งหากเกิดขึ้นกับใคร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คโดยด่วน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า เวลานี้คุณอาจอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวโดยที่ไม่รู้ตัว 
                
           2. ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ อาการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ทางเดินของเลือดในหัวใจห้องขวากับห้องซ้ายมีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการผสมของเลือดแดงกับเลือดดํา และทําให้ปริมาณของออกซิเจนในเลือดมีปริมาณน้อยลง
 
 โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่ตรวจพบขณะตรวจร่างกาย...

 
          การไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถคาดคะเนความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหัวใจ ได้ เช่น ตรวจเลือดแล้วพบว่าเป็นเบาหวาน หรือมีไขมันในเลือดสูง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน หรือเอ็กซเรย์แล้วพบว่า ขนาดของหัวใจโตกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว และกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนกำลังลง ทำให้ห้องต่างๆ ของหัวใจขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
 
 ป้องกัน โรคหัวใจ อย่างไรดี... 
          
          ข้อมูลที่ได้บอกไปข้างต้น เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เรามีอัตราเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็น โรคหัวใจ เท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะวินิจฉัยว่าเราเป็น โรคหัวใจ หรือไม่ คือแพทย์ โรคหัวใจ เท่านั้น ดังนั้นหากพบความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนดีที่สุด
 
 สำหรับคนที่หัวใจยังเป็นปกติ เรามีข้อแนะนำในการดูแลหัวใจ (ก่อนสายเกินไป) ดังนี้ค่ะ

           สังเกตความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ดูว่าอัตราการเต้นของหัวใจปกติดีหรือไม่ เจ็บหน้าอก ใจสั่นบ่อยๆ หรือเปล่า เป็นต้น
                
           ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สุขภาพจิตแจ่มใสแล้ว ยังช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้นอีกด้วย
 
           ดูแลสุขภาพใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ พยายามไม่เครียด รู้จักควบคุมอารมณ์ และพึงระลึกไว้เสมอว่า ความเครียดและความโกรธ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หัวใจเต้นแรง และทำงานหนักขึ้น
 
           รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยงดอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบได้ง่าย และหันไปกินผักผลไม้ให้มากขึ้น
                
           ควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและรักษาโรคร้ายที่อาจคาดไม่ถึง เช่น โรคหัวใจ ซึ่งแฝงอยู่ในตัวเราตั้งแต่เนิ่นๆ
 
         

ค่าบริการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ราคา 350 บาท

... ยามใดที่ร่างกายอ่อนล้า เราหยุดพักให้หายเหนื่อยได้... แต่ยามใดที่หัวใจอ่อนแรง มันก็ยังคงเดินต่อไป ทำงานต่อไป... เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่า "หัวใจ" คนเราไม่เคยหยุดพัก อย่าลืมดูแลรักษามันไว้ให้ดีๆ นะคะ เพือจะได้ไม่เป็น โรคหัวใจ ค่ะ


 

Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 171,059 Today: 30 PageView/Month: 2,086

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...